ประวัติชมรมวาณิชธนกิจ (Investment Banking Club)
จัดตั้งขึ้นในรูปแบบของชมรมซึ่งบริหารงานโดยคณะกรรมการชมรม และถือเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย โดยชมรมได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2539
วัตถุประสงค์ ชมรมวาณิชธนกิจ
- ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจหลักทรัพย์โดยรวม
- ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานการประกอบธุรกิจวาณิชธนกิจทั้งด้านหลักการและด้านปฏิบัติ
- เป็นตัวแทนของสมาชิกเพื่อให้ความร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอันที่จะพัฒนาธุรกิจวาณิชธนกิจ
- กำกับดูแลสมาชิกของชมรมให้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจที่ทางชมรมได้กำหนดขึ้น
- ประสานความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับธุรกิจวาณิชธนกิจ รวมทั้งการประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือกับบุคคลภายนอกอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบธุรกิจวาณิชธนกิจ
- ส่งเสริมการศึกษาวิจัย และการเผยแพร่ทางวิชาการและข่าวสารเกี่ยวกับธุรกิจวาณิชธนกิจ
สมาชิก
สมาชิกชมรมฯได้แก่ บริษัทที่ได้รับได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ปรึกษาการลงทุน หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงิน หรือที่ปรึกษาด้านการบัญชี ปัจจุบันชมรมมีสมาชิกทั้งสิ้น 77 บริษัท ประกอบด้วย
บริษัทหลักทรัพย์
33 บริษัท
ธนาคาร
10 แห่ง
บริษัทที่ปรึกษาฯ
34 บริษัท
คณะกรรมการ
คณะกรรมการชมรมมีจำนวนไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วย
- ประธานที่มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมสมาชิกจำนวน 1 คน
- ตัวแทนจากบริษัทสมาชิกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยไม่เกิน 8 คน
- ตัวแทนจากบริษัทที่มิใช่สมาชิกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยไม่เกิน 5 คน โดยอย่างน้อย 1 ใน 5 คนนั้นเป็นกรรมการที่เสนอและเลือกตั้งโดยบริษัทสมาชิกที่ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์
- กรรมการโดยตำแหน่งอีก 1 คน คือ เลขาธิการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย
คณะที่ปรึกษา
ที่ปรึกษาคณะกรรมการจะประกอบด้วย กรรมการจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยไม่เกิน 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น รวมทั้งตัวแทนจากสมาคมที่เกี่ยวข้องอีกไม่เกิน 6 คน โดยมีวาระคราวละ 1 ปี
การบริหารชมรม
ผู้ที่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งและแต่งตั้งให้เป็นประธานหรือกรรมการของชมรมจะต้องมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในฝ่ายวาณิชธนกิจของบริษัทสมาชิกชมรม โดยคณะกรรมการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี