หน้าแรก » เกี่ยวกับเรา » ข้อบังคับ

ข้อบังคับ

ข้อ 1. ชมรมนี้มีชื่อว่า “ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย”

มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Investment Banking Club” (IB Club)

คำว่า “ชมรม” ต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายถึง “ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย”

คำว่า “บริษัท” ต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายถึง “บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และให้หมายความรวมถึง นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ”

คำว่า “ผู้ควบคุมการปฏิบัติ
งานในสายงานที่ปรึกษาทางการเงิน” ต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายถึง “ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทให้เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงานในสายงานที่ปรึกษา
ทางการเงินตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด โดยต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาและเป็นผู้ที่ผ่านการทดสอบความรู้ที่ปรึกษาทาง
การเงินที่จัดทดสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในปี พ.ศ. 2543 หรือเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่ปรึกษาทางการเงินที่ชมรม
วาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กำหนดโดยความเห็นชอบของ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป”

คำว่า “กรรมการ” ต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายถึง “กรรมการของชมรมวาณิชธนกิจ”

คำว่า “คณะกรรมการ” ต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายถึง “คณะกรรมการของชมรมวาณิชธนกิจ”

ข้อ 2. สำนักงานของชมรมตั้งอยู่ ณ ที่ทำการของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย
ข้อ 3. ในกรณีที่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยหรือตีความเกี่ยวกับข้อบังคับนี้หรือการดำเนินการของชมรม ให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัยหรือ
ตีความแล้วแต่กรณี

ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของชมรมมีดังต่อไปนี้

4.1 ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจหลักทรัพย์โดยรวม

4.2 ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานการประกอบธุรกิจวาณิชธนกิจทั้งด้านหลักการและด้านปฏิบัติ

4.3 เป็นตัวแทนของสมาชิกเพื่อให้ความร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอันที่จะพัฒนาธุรกิจ วาณิชธนกิจ

4.4 กำกับดูแลสมาชิกของชมรมให้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับและจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจที่ทาง ชมรมได้กำหนดขึ้น

4.5 ประสานความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับธุรกิจวาณิชธนกิจ รวมทั้ง การประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือกับบุคคลภายนอกอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบธุรกิจวาณิชธนกิจ

4.6 ส่งเสริมการศึกษา วิจัย และการเผยแพร่ข่าวสารทางวิชาการและข่าวสารเกี่ยวกับธุรกิจวาณิชธนกิจ

ข้อ 5 สมาชิกชมรมได้แก่

5.1 บริษัทสมาชิกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยที่มีสายงานที่รับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ที่ชัดเจน 

5.2 บริษัทที่มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

5.2.1 เป็นสถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลอื่นซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางด้าน การเงิน หรือที่ปรึกษาทางด้านการบัญชี ที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจในประเทศไทย

5.2.2 มีการกำหนดสายงานที่รับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ชัดเจน โดยในสายงานดังกล่าวต้องมีผู้ควบคุมการปฏิบัติงานที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. อย่างน้อย 1 คน 

5.2.3 มีกรรมการ ผู้จัดการ พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายที่รับผิดชอบงานด้านที่ปรึกษาทางการเงิน หรือบุคคลอื่นที่มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลดังกล่าว และผู้ที่บริษัทกำหนดให้เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงานในสายงานที่ปรึกษาทางการเงิน ที่มีจรรยาบรรณ มีความสามารถหรือมีประสบการณ์ในธุรกิจที่จะดำเนินการและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

5.2.3.1 มีประวัติเคยถูกไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือต้องคดี เนื่องจากการกระทำทุจริต

5.2.3.2 มีประวัติความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หลายครั้ง หรือที่เป็นความผิดร้ายแรงอันแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบ หรือความรอบคอบในการบริหารงาน

5.2.4 มีหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติงานที่รัดกุมและเชื่อถือได้ และแสดงได้ว่าจะสามารถปฏิบัติงาน
เป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพเช่นนั้นพึงกระทำ

5.2.5 มีทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วอย่างน้อย 10 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท

5.2.6 มีคุณสมบัติอื่นใดที่คณะกรรมการกำหนด

สมาชิกของชมรมจะเป็นสมาชิกของสมาคมหรือชมรมอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันกับชมรมไม่ได้  

ข้อ 6 บริษัทที่มีคุณสมบัติตามข้อ 5 ซึ่งมีความประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชมรมให้ยื่นใบสมัครต่อเลขาธิการชมรมตามวิธีการที่ชมรมกำหนด และให้เลขาธิการชมรมนำใบสมัครนั้นเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคำขอเข้าเป็นสมาชิก เมื่อคณะกรรมการมีมติให้รับหรือไม่รับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ให้เลขาธิการชมรมมีหนังสือแจ้งให้ผู้สมัครนั้นทราบภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ลงมติ

ข้อ 7 สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระค่าบำรุงเรียบร้อยแล้ว

ข้อ 8 สมาชิกย่อมขาดจากสมาชิกภาพในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

8.1 สมาชิกแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรขอลาออกจากชมรม

8.2 สมาชิกไม่ชำระค่าบำรุงรายปี และคณะกรรมการมีมติให้ออก

8.3 ที่ประชุมสมาชิกมีมติให้ถอนชื่อจากทะเบียนสมาชิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม

8.4 คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพตามข้อบังคับของชมรมหมวดที่ 8 ข้อ 28

8.5 สมาชิกตามข้อ 5.2 ไม่ได้รับใบอนุญาตการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นระยะเวลา 2 ปี ติดต่อกัน 

ข้อ 9 สมาชิกต้องชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงชมรม ดังนี้

9.1 ค่าลงทะเบียนสมาชิกแรกเข้าเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท และค่าบำรุงรายปี ๆ ละ 20,000 บาท หรือตามที่คณะกรรมการกำหนดแต่ไม่เกิน 20,000 บาท

9.2 สมาชิกต้องชำระค่าบำรุงรายปีภายในเดือนพฤษภาคมของทุกปี หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด

ข้อ 10 สมาชิกมีสิทธิและหน้าที่ดังนี้

10.1 ปฏิบัติตามข้อบังคับและจรรยาบรรณของชมรม

10.2 แสดงความคิดเห็นและออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม

10.3 เสนอและเลือกตั้งกรรมการของชมรม

10.4 ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของชมรม

10.5 ได้รับประโยชน์จากการดำเนินกิจกรรมของชมรม

 

ข้อ 11 ให้คณะกรรมการจัดประชุมสมาชิกสามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ภายใน 3 เดือน นับแต่วันปิดรอบระยะเวลาบัญชี
ของชมรม

ข้อ 12 การประชุมสมาชิกคราวอื่น ให้เรียกว่าประชุมวิสามัญ ซึ่งคณะกรรมการ หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจะร้องขอให้คณะกรรมการจัดประชุม โดยแจ้งเหตุร้องขอจัดประชุมนั้นเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังเลขาธิการชมรม

ข้อ 13 การประชุมสมาชิกสามัญประจำปี ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจึงจะครบเป็นองค์ประชุม หากเวลาผ่านพ้นไป 1 ชั่วโมง สมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ให้เลื่อนการประชุมไปคราวหน้า และให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหม่ การประชุมครั้งหลังนี้แม้สมาชิกไม่ครบเป็นองค์ประชุมก็ให้ดำเนินการประชุมไปได้

ข้อ 14 การประชุมสมาชิกวิสามัญ ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจึงจะครบเป็นองค์ประชุม หากเวลาผ่านพ้นไป 1 ชั่วโมง สมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุมก็ให้เลื่อนการประชุมไปคราวหน้า และให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหม่ การประชุมครั้งหลังนี้ แม้มีสมาชิกไม่ครบเป็นองค์ประชุมก็ให้ดำเนินการประชุมไปได้ เว้นแต่ในกรณีของการประชุมสมาชิกวิสามัญที่สมาชิกร้องขอให้คณะกรรมการจัดประชุมนั้นหากสมาชิกมาไม่ครบเป็นองค์ประชุมก็ให้ยกเลิกการประชุมนั้นเสีย

ข้อ 15 การบอกกล่าวประชุมสมาชิก ให้แจ้งล่วงหน้าก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า 5 วันทำการโดยทางจดหมายนำส่งหรือโทรสาร พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียด วัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุม

ข้อ 16 ให้ประธานชมรมเป็นประธานในที่ประชุมสมาชิก ถ้าประธานชมรมไม่มาประชุมให้รองประธานชมรมทำหน้าที่แทน ถ้ารองประธานชมรมไม่มาประชุมให้สมาชิกเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน

ข้อ 17 ให้ที่ประชุมถือคะแนนเสียงข้างมากในที่ประชุมเป็นเกณฑ์ สมาชิกแต่ละรายมีคะแนนเสียงรายละหนึ่งเสียง
ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด ยกเว้นกรณีที่กำหนดไว้เฉพาะในหมวดที่ 10 การแก้ไขข้อบังคับของชมรมและการเลิกชมรม

ข้อ 18 การเลือกตั้งและแต่งตั้งคณะกรรมการ

18.1 ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งจำนวนไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วยประธานที่มาจากการเลือกตั้งของ
ที่ประชุมสมาชิกจำนวน 1 คน และกรรมการจากการเลือกตั้งของที่ประชุมสมาชิกจากบุคคลที่สมาชิก
แต่ละประเภทระหว่างกันเองเป็นผู้เสนอหรือเลือกตั้งไม่เกิน 13 คน โดยเป็นกรรมการจากสมาชิกชมรม
ตามข้อ 5.1 ไม่เกิน 8 คน และกรรมการจากสมาชิกชมรมตามข้อ 5.2 ไม่เกิน 5 คน โดยอย่างน้อย 1 คน
ในจำนวน 5 คนนั้นเป็นกรรมการที่เสนอและเลือกตั้งโดยสมาชิกชมรมที่ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และกรรมการอีก 1 คน คือ เลขาธิการสมาคม เป็นกรรมการและเลขาธิการชมรมโดยตำแหน่ง

18.2 การเลือกตั้งประธานและกรรมการ ให้กระทำโดยสมาชิกเลือกตั้งจากรายชื่อบุคคลที่เสนอโดยสมาชิกตามที่ ตนเห็นสมควรให้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการแล้วแต่กรณีจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง

– ในการเลือกตั้งตามวรรคแรก หากคราวใดมีการเลือกตั้งทั้งประธานและกรรมการให้เลือกตั้งประธานก่อน โดยให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นผู้ที่ได้รับเลือก หากปรากฏว่ามีผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดมากกว่า 1 คน ให้ที่ประชุมสมาชิกลงมติใหม่เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน หากปรากฏว่าคะแนนเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลาก 

– ในการเลือกตั้งกรรมการ  ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงตามลำดับได้เป็นกรรมการมีจำนวนตามที่คณะกรรมการจะได้กำหนดเป็นคราว ๆ ไป แต่ไม่เกินจำนวนที่ระบุไว้ในข้อ 18.1 ถ้ามีผู้ที่ได้คะแนนเท่ากันในลำดับสุดท้ายที่จะได้เป็นกรรมการคราวนั้น ให้ที่ประชุมสมาชิกลงมติใหม่เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนเท่ากันหากปรากฏว่าคะแนนเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลาก

18.3 บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง ประกอบด้วยบัญชีรายชื่อของบุคคลที่เสนอโดยสมาชิกให้เป็นผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธาน และบัญชีรายชื่อของบุคคลที่เสนอโดยสมาชิกให้เป็นผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งในตำแหน่งกรรมการ 

18.4 ผู้ที่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานหรือกรรมการ จะต้องมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในฝ่ายวาณิชธนกิจของบริษัทสมาชิก หากสมาชิกของชมรมรายใดได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการหรือประธานของชมรม (แล้วแต่กรณี) แล้ว สมาชิกของชมรมรายนั้นไม่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานหรือกรรมการอีกตำแหน่งหนึ่ง

18.5 การเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อรับเลือกตั้งเป็นประธานและกรรมการ ให้เสนอต่อเลขาธิการชมรมก่อนวันประชุมสมาชิกไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน และให้เลขาธิการชมรมส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งไปยัง สมาชิกล่วงหน้าก่อนวันประชุมสมาชิกไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

18.6 ให้บรรดากรรมการเลือกตั้งกันเองเพื่อดำรงตำแหน่งรองประธาน เหรัญญิก และตำแหน่งอื่น ๆ ตามที่ คณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มี 

18.7 คณะกรรมการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 3 ปี ในการประชุมสมาชิกสามัญประจำปี กรรมการต้องออกจากตำแหน่งจำนวนหนึ่งในสาม ถ้าจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ก็ให้ออกโดยจำนวน
ใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม ให้กรรมการคนที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับเลือกตั้งได้อีก

18.8 ความในข้อ 18.4  ข้อ 18.6 และข้อ 18.7 มิให้นำมาใช้บังคับแก่เลขาธิการสมาคม ซึ่งเป็นกรรมการและเลขาธิการชมรมโดยตำแหน่ง

ข้อ 19 ให้มีคณะที่ปรึกษาคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยไม่เกิน 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น รวมทั้งตัวแทนจากสมาคมที่เกี่ยวข้อง อีกไม่เกิน 6 คน โดยมีวาระคราวละ 1 ปี

ข้อ 20 ให้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการ ก... ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาในฝ่ายงานต่าง ๆ ของชมรมตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

ข้อ 21 ให้เลขาธิการชมรมแจ้งรายชื่อประธาน และ/หรือ กรรมการที่ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิก พร้อมทั้งแจ้งรายชื่อ   คณะกรรมการให้สมาชิกทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่เลือกตั้งเสร็จสิ้นสมบูรณ์

ข้อ 22 การเลือกตั้งกรรมการโดยสมาชิกในที่ประชุมสมาชิกจะกระทำโดยวิธีเปิดเผยหรือวิธีอื่นก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ที่ประชุมสมาชิกจะกำหนด

ข้อ 23 ให้คณะกรรมการร่วมกันกำหนดและมอบหมายความรับผิดชอบในงานด้านต่าง ๆ ของชมรมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการเสร็จสิ้นสมบูรณ์

ข้อ 24 อำนาจและหน้าที่ของประธานและกรรมการ

24.1 บริหารกิจการของชมรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

24.2 คณะกรรมการอาจแต่งตั้งที่ปรึกษาของชมรมและคณะอนุกรรมการได้

24.3 คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานในเรื่องต่าง ๆ จากสมาชิกหรือบุคคลอื่นที่คณะกรรมการเห็นสมควร

24.4 ให้ประธานชมรมเป็นผู้แทนของชมรมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และเป็นประธานในที่ประชุม ของคณะกรรมการและในที่ประชุมสมาชิก

24.5 ให้เลขาธิการชมรมมีหน้าที่ช่วยเหลือประธานในกิจการทั้งปวงอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของประธาน เป็นผู้ปฏิบัติการแทนประธานในขณะที่ประธานไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือตามที่ประธานจะมอบหมายและมีหน้าที่บริหารงานเอกสารที่เกี่ยวกับการประชุม

24.6 ให้ประธานชมรมประสานงานกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยในการแต่งตั้งหรือมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยทำหน้าที่รักษาและจดบันทึกบัญชีเกี่ยวกับเงิน ทรัพย์สิน รายรับรายจ่าย ของชมรม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่เป็นนายทะเบียนสมาชิก และหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

ข้อ 25 การประชุมคณะกรรมการ

25.1 ให้มีการประชุมคณะกรรมการตามที่ประธานชมรมจะเห็นสมควร แต่อย่างน้อยจะต้องมีการประชุมกัน ทุกเดือน

25.2 ในการประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง ต้องมีกรรมการมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ ทั้งหมด จึงจะครบองค์ประชุม

25.3 ให้ประธานชมรมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานไม่มาประชุมให้รองประธานชมรมทำหน้าที่แทน  ถ้ารองประธานไม่มาประชุมให้เลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน

25.4 มติของที่ประชุมคณะกรรมการให้ถือเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มาประชุมเป็นเกณฑ์ในกรณีที่ เสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

25.5 ให้มีการประชุมคณะกรรมการชมรมร่วมกับคณะกรรมการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยทุก 3 เดือน

ข้อ 26 กรรมการจะพ้นจากตำแหน่งในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

26.1 ถึงแก่กรรม

26.2 ถึงคราวออกตามวาระ

26.3 ลาออกจากกรรมการ

26.4 ออกจากบริษัทสมาชิก

26.5 บริษัทสมาชิกขาดจากสมาชิกภาพ

26.6 ที่ประชุมสมาชิกมีมติให้ถอดถอนด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม

ข้อ 27 ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลง ซึ่งนอกเหนือไปจากการออกตามวาระในข้อ 18.7 ให้คณะกรรมการแต่งตั้ง กรรมการเข้าดำรงตำแหน่งแทน โดยกรรมการผู้ได้รับการแต่งตั้งขึ้นใหม่มีวาระการดำรงตำแหน่งได้เท่ากับกรรมการ ที่ตนเข้ามาแทนพึงมี ทั้งนี้ ให้กระทำในการประชุมคณะกรรมการครั้งต่อไปตามองค์ประกอบในข้อ 18.1

ข้อ 28 สมาชิกใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือจรรยาบรรณของชมรม คณะกรรมการอาจมีมติลงโทษสมาชิกนั้น ดังต่อไปนี้

28.1 ภาคทัณฑ์

28.2 ระงับการเป็นสมาชิกชมรมชั่วคราว

28.3 ให้สมาชิกพ้นจากการเป็นสมาชิกชมรม

ข้อ 29 ในการพิจารณาความผิดและการลงโทษสมาชิก คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนเพื่อทำหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปผลการกระทำความผิด

ในกรณีที่คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนมีคำสั่งลงโทษสมาชิกใดแล้ว ชมรมจะแจ้งคำสั่งลงโทษเป็นหนังสือไปยังสมาชิกดังกล่าว โดยสมาชิกนั้นอาจยื่นคำขออุทธรณ์การลงโทษต่อคณะอนุกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ ตามหลักเกณฑ์ที่ชมรมกำหนด ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ถือเป็นที่สุด

ข้อ 30 ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการลงโทษสมาชิก และการเปิดเผยการลงโทษได้ตามที่เห็นสมควร

ข้อ 31 บริษัทใดซึ่งถูกระงับการเป็นสมาชิกชมรมชั่วคราวตามข้อ 28.2 อาจขอให้คณะกรรมการยกเลิกการระงับดังกล่าวได้ในกรณีที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร หรือกรรมการของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นเหตุให้ถูกระงับการเป็นสมาชิก และคณะกรรมการเห็นสมควรให้รับเข้าเป็นสมาชิก
ได้อีก

ข้อ 32 บริษัทใดซึ่งพ้นจากการเป็นสมาชิกชมรมตามข้อ 28.3 จะขอสมัครเป็นสมาชิกชมรมอีกไม่ได้ ยกเว้นกรณี  ดังต่อไปนี้

32.1 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร หรือกรรมการของบริษัท
ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น ๆ และคณะกรรมการเห็นสมควรให้รับเข้าเป็นสมาชิกได้อีก

32.2 ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกชมรมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันพ้นจากการเป็นสมาชิกชมรม

ข้อ 33 การเงินของชมรมให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ หรือบุคคลที่คณะกรรมการมอบหมาย โดยจะได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากรจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย

ข้อ 34 รายได้ของชมรมมาจากการเก็บค่าบำรุงจากสมาชิก รายได้จากการจัดกิจกรรม หรือรายได้จากการจำหน่ายเอกสารทางวิชาการของชมรม

ข้อ 35 ให้คณะกรรมการพิจารณานำเงินของชมรมฝากไว้ ณ สถาบันการเงินที่คณะกรรมการเห็นสมควร โดยแยกออกต่างหากจากบัญชีอื่น ๆ ของทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย การเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากของชมรมทุกครั้ง ต้องมีหลักฐานการอนุมัติโดยการลงลายมือชื่อของกรรมการอย่างน้อย 2 คนร่วมกัน

ข้อ 36 เหรัญญิกของชมรมอาจเก็บรักษาเงินสดย่อยเพื่อการทดรองจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท และการเบิกจ่ายเงินจากเงินสดย่อยทุกครั้งต้องมีเอกสารหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์

ข้อ 37 ให้คณะกรรมการใช้จ่ายเงินของชมรมได้ตามความจำเป็นเพื่อบริหารงานของชมรม และกิจกรรมของชมรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

ข้อ 38 รอบปีบัญชีของชมรมเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ให้ผู้ตรวจสอบบัญชีของสมาคมทำการตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่าย และงบดุลของทางชมรมแล้วนำเสนอต่อที่ประชุมสมาชิกในการประชุมสมาชิกสามัญประจำปี

ข้อ 39 การแก้ไขระเบียบข้อบังคับของชมรมจะสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ด้วยมติของที่ประชุมสมาชิก ซึ่งต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม

ข้อ 40 ชมรมจะเลิกได้ด้วยมติของที่ประชุมสมาชิก ซึ่งต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมด

ข้อ 41 เมื่อชมรมต้องเลิกไป ให้มีการชำระบัญชีของชมรม และให้ที่ประชุมสมาชิกคราวนั้นลงมติเลือกตั้งกำหนด
ตัวผู้ชำระบัญชีเสียด้วย

หากมีทรัพย์สินของชมรมเหลือจากการชำระบัญชี ให้ยกให้แก่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย

ข้อ 42 มิให้นำความในข้อ 5.2.5 มาใช้บังคับกับผู้ที่เป็นสมาชิกของชมรมอยู่ ณ วันที่การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับข้อดังกล่าวมีผลใช้บังคับ

ข้อ 43 การต่อสมาชิกภาพของสมาชิกตามข้อ 42 ตั้งแต่ปี พ.. 2549 เป็นต้นไป ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขดังต่อไปนี้สำหรับคุณสมบัติตามข้อ 5.2.5

สมาชิกต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท

ในกรณีที่สมาชิกรายใดมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามข้อ 43 นี้สมาชิกรายดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้มีคุณสมบัติดังกล่าวให้ครบถ้วนภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันครบกำหนดการต่ออายุสมาชิกของปี พ.. 2549